
พระปทุมวรนายก (สอน พุทฺธิสาโร)
ประวัติสังเขป ของ
เจ้าคุณหลวงพ่อ พระปทุมวรนายก พุธิสารเถระ
******************
ชาติภูมิ
เจ้าคุณหลวงพ่อพระปทุมวรนายก นามเดิม สอน นามสกุล ตินตะโมระ เกิดที่บ้านใต้วัดสลักเหนือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๔๓ บิดาชื่อ เอี่ยม มารดาชื่อ หนู
การศึกษาเบื้องต้น
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๓ อายุได้ ๙ ปี เข้าเรียนหนังสือไทยที่สำนักพระอธิการชื่นวัดสลักเหนือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จนอ่านออกเขียนได้ในสมัยนั้น แล้วบรรพชาสามเณรเรียนอักขรสมัยและอบรมระเบียบศีลธรรมควบกันไป เมื่ออายุ ๑๔ ปี จึงได้ลาเพศจากสามเณรไปประกอบอาชีพทำสวน ทำนา ที่ตระกูลได้มอบให้ จนถึงอายุครบ ๒๐ ปี
อุปสมบท
เมื่ออายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสลักเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ตรงกับวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ เวลาเช้า เจ้าอธิการบ๊อก วัดปากครองบางคูวัด อำเภอเมือง จังหวัดปทุม เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูธัญญเขตเขมากร ( ช้าง ) วัดเทียนถวาย ( ภายหลังได้ย้ายไปอยู่ที่วัดเขียนเขต ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัด ธัญบุรี ) เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูสิทธิเดชะ ( แสง ) วัดชนะสงคราม พระนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนาม ฉายาว่า พุทฺธณาโณ ( ภายหลัง เจ้าพระคุณสมเด็จวันรัต ( เฮง เขมจารีเถระ ) วัดมหาธาตุ ได้กรุณาเปลี่ยนใหม่ว่า พุทฺธิสาโร ) เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาอยู่วัดเทียนถวาย จังหวัดปทุมธานี จนตลอดชนมายุ
เหตุที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต ได้เปลี่ยนนามฉายาใหม่ ในสมัยที่เจ้าคุณท่านดำรง สมณศักดิ์ เป็นพระพิมลธรรม เจ้าคณะมณฑลอยุธยา สมัยนั้นเจ้าคุณหลวงพ่อปทุมวรนายก ดำรงค์ สมณศักดิ์เป็นพระครุศีลานุโลมคุณ รองเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้ติดต่อสัมพันธ์กับเจ้าคุณสมเด็จเขมจารมหาเถระอย่างสนิทสนมฐานผู้ใต้บังคับบัญชา บางครั้งก็ได้ติดตามร่วมไปในงานตรวจการคณะสงฆ์มณฑลอยุธยาด้วย จึงเป็นที่รักใคร่สนิทสนมตั้งแต่นั้นมา ประกอบด้วยพระคุณท่านทั้งสองเป็นสหชาติ เกิดร่วมปีเดียวกันและได้รับพรพีเศษจากเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เรียกคำแทนว่า “สหาย” และอนุญาตให้เข้าหาถึงห้องพักได้ทุกโอกาสโดยไม่จำกัดเวลา โดยเหตุที่ท่านมีการศึกษาดีและมีการประพฤติปฏิบัติดี นับเป็นสาระของชีวิตและหมู่คณะได้เป็นอย่างดี จึงได้รับเปลี่ยนฉายาให้ต้องตามความรู้และความประพฤติปฏิบัติ
บาลี
เบื้องต้นได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายนะ อันว่าด้วยบาลีไวยากรณ์อย่างเก่าแล้วเรียนคัมภีร์พระธัมมปทัฏฐกถาและคัมภีร์มังคลัตถทีปนีตามลำดับจนสามารถแปลภาษาบาลีได้ ในสำนักท่านพระครูศีลานุโลมคุณ ( สว่าง ) วัดเทียนถวาย ซึ่งภายหลังท่านได้ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมานุสารี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจารย์และเป็นครูช่วยบริหารงานทั้งฝ่ายปริยัติสอนคัมภีร์มูลกัจจายนะ ฯลฯ และฝ่ายบริหาร
พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมของพระครูศีลานโลมคุณ
พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นครูสอนปริยัติแผนใหม่ แผนธรรมวินัย ซึ่งเริ่มตั้งขึ้นครั้งแรกในส่วนภูมิภาค
พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัด ฐานานุกรมของพระธรรมานุสารี
พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนใหม่และช่วยเหลือบริหารงานพระศาสนา ในหน้าที่ของเจ้าคณะเป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามมณฑลอยุธยา
พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูศีลานุโลมคุณ ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นกรรมการศึกษาอบรมศีลธรรมแก่นักเรียนในจังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูปทุมวรนายก วินัยสาธกธรรมวาที สังฆวาหะ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่พระปทุมวรนายก วินัยสาธกธรรมวาที สังฆปาโมกข์
ชีวิตอวสาน
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ เริ่มอาพาธเกี่ยวกับประสาท ครั้งแรกท่านว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้นำแพทย์สุขศาลามาตรวจ แพทย์บอกว่าเป็นโรคเส้นประสาทเพราะใช้สองมาก เมื่อทำการรักษาพยาบาลกันเต็มความสามารถแล้วอาการโรคก็หายแต่อาการหูรู้สึกอื้อขึ้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ โรคประสาทกลับกำเริบขึ้น ตอนนี้คณะนางพยาบาลศิริราชได้พาหมอสนองมาตรวจและถวายยารักษาอาการแล้วอาการก็บรรเทาลงแต่ประสาทหูตึงมากขึ้นฟังอะไรไม่ได้ยิน
พ.ศ. ๒๔๙๔ อาการโรคกำเริบขึ้นอีก ได้มาอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ครั้งละนานๆเป็นเวลาถึง ๓ ครั้ง จากนั้นก็ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ ๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้เกิดอาพาธหนัก สลบไปเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ทางคณะศิษย์วัดเทียนถวายได้แจ้งมายังโรงพยาบาลสงฆ์ให้ส่งคณะแพทย์และรถไปรับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์คระแพทย์ได้ประชุมกันรักษาจนเต็มความสามารถ อาการมีแต่ทรงกับทรุด มีอาการอ่อนเพลียมากขึ้นโดยลำดับ จนถึง วันที่๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลา ๑๗.๐๔ น. ท่านได้ถึงมรณภาพด้วยอาการอักสงบ ที่ตึกพิเศษโรงพยาบาลสงฆ์ คำนวณ อายุได้ ๘๑ ปี
*************************
วัตถุมงคล
เหรียญสองหน้าพระพุทธลิ้นทอง พระปทุมวรนายก (หลวงปู่สอน) วัดเทียนถวาย เป็นเหรียญซึ่งสร้างแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระปทุมวรนายก (หลวงปู่สอน) ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเทียนถวาย และยังมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี พระปทุมวรนายก (หลวงปู่สอน) มรณภาพเมื่อปี 2504 คณะศิษย์ได้จัดสร้างเหรียญนี้ เพื่อแจกให้กับผู้มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทียนถวาย ในปี 2505
ซึ่งเหรียญนี้มีพิธีเสก ณ.อุโบสถ์มหาอุตม์ (มีประตูเฉพาะทางเข้า) ซึ่งเป็นอุโบสถเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาของวัดเทียนถวาย โดยมี หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร วัดเวฬุวนาราม จ.นครปฐม เป็นประธานเสก ตลอดจนพระเกจิชื่อดังสายปทุมธานีในสมัยนั้นหลายรูป ร่วมเสก เช่นหลวงปู่เทียนวันโบสถ์ หลวงปู่ทุ่งวัดเทียนถวายฯ หลวงปู่สอนท่านเป็นหนึ่งในพระเกจิที่ร่วมเสกวัตถุมงคลที่วัดเขาตะเครา เหรียญหล่อรุ่นแรกในปี 2465ด้วย ....
ตัวเหรียญสองหน้านี้ออกแบบได้สวยงามเข้มขลังมาก ซึ่งปัจจุบันนี้นับว่าเป็นเหรียญหนึ่งที่มีประสบการณ์สูง ท้องถิ่นวัดเทียนถวายทราบกันดีถึงพุทธคุณเหรียญนี้ว่าไม่เป็นสองรองใคร
การสร้างนั้นไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่ชัดนัก แต่คาดว่าน่าจะหลักหมื่นเหรียญ เนื้อโลหะที่จัดสร้างจะประกอบด้วย
1.เนื้อเงิน
2.เนื้อโลหะผสมรมดำ
ซึ่งในเนื้อเงินนั้นนับว่าหายากมากครับ นานๆจะเจอสักเหรียญ ซึ่งใครมีก็มักจะหวงแหนกันมาก ซึ่งจากการที่ผมได้เก็บสะสมมา จึงพอจะมาประมวลคร่าวๆเพื่อบันทึกเอาไว้เป็นข้อมูลในการเล่นหาสะสมกันดังนี้ครับ
1.เนื้อเงิน มีบล็อกเดียวคือ บล็อก 12 โพธิ์
2.เนื้อโลหะผสมรมดำ พบเจอเป็น 3 บล็อกคือ
2.1 บล็อกพระเกศแหลม บล็อกนี้จะสวยงามมากการปั้ม ปั้มได้เป็นธรรมชาติผิวพระตึงมีเส้นสายสวยงามพระพักตร์พระพุทธใหญ่อิ่มเอิบ พบเจอน้อยมาก ซึ่งผมคิดว่าหายากมากว่าเนื้อเงินอีกครับ จึงเป็นบล็อกที่น่าเก็บสะสมมากที่สุดครับ
2.2 บล็อกสิบเอ็ดโพธิ์ บล็อกนี้ก็มีความงามพอสมควรครับ และเป็นบล็อกที่หายากเช่นกัน แต่ก็ยังพบอยู่บ้างจัดเป็นอีกบล็อกที่ต้องรีบตามเก็บครับ เพราะนับวันก็จะหายากเช่นกัน
2.3 บล็อกสิบสองโพธิ์ เป็นบล็อกเดียวกับบล็อกเนื้อเงิน ยังพอพบเห็นอยู่บ่อยๆ ราคาเช่าหายังไม่แพงนัก แต่วันข้างหน้าต่อไปคงจะหายากเช่นกัน เพราะใครๆต่างทราบพุทธคุณก็ตามเก็บกันจร้าละหวั่น ไม่ได้พระเกศแหลม เนื้อเงิน หรือสิบเอ็ดโพธิ์ ก็บูชาสิบสองโพธิ์คล้องคอได้เหมือนกัน เพราะต่างก็เสกในพิธีเดียวกันทั้งสิ้น
วันนี้ผมมีภาพบางส่วน ของบล็อกต่างๆมาให้ชม ลองชมกันดูนะครับ เผื่อใครจะตามหามาครอบครองกันได้บ้าง สุดยอดพุทธคุณจริงๆครับ
หากมีข้อมูลได้เพิ่มเติมจะนำมาบอกกล่าวกันอีกทีครับ หรือใครมีข้อมูลเพิ่มเติมแจ้งได้ที่ 081-5605888 จะขอบคุณมากครับ
---------------------------------------------------------


.jpg)








ชมพระพุทธลิ้นทอง องค์ปิดทองเก่าสวยๆกันสักองค์ครับ




ได้โพธิ์ชัดๆ มีหน้ามีตา ทองเดิมๆ
แถมยังได้เนื้อหาหนึกแน่น และหนา สวยจบ ครบรูปแบบครับ
******************************